ถ้ำปะการัง อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ทั้งหมด 461,712 ไร่ มีอาณาเขตทิศเหนือจรดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา ทิศตะวันออกจรดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขื่อนรัชชประภา ทิศตะวันตกจรดอุทยานฯ ศรีพังงา สภาพทั่วไปเป็นภูเขาดินกับภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน ดูแปลกตาด้วยแนวผาที่สูงชัน ด้านทิศเหนือคือที่ตั้งของเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) มีบรรยากาศของทะเลสาบเหนือเขื่อนที่งดงาม จนได้รับฉายาว่า กุ้ยหลินเมืองไทย ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวในเขื่อนรัชชประภามีหลายที่ และแต่ละที่ต่างก็มีชื่อเสียงทั้งในกลุ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติกับนักท่องเที่ยวชาวไทย อย่างเช่น ถ้ำปะการัง
ถ้ำปะการัง ตั้งอยู่ในเขื่อนรัชชประภา เป็นถ้ำที่อยู่ทางด้านในเขาสก มีลักษณะแบบเดียวกันกับถ้ำน้ำลอดหรือถ้ำทะลุ เป็นถ้ำที่มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ภายในถ้ำมืดสนิท มีหินงอก หินย้อย ซึ่งสาเหตุที่เรียกว่าถ้ำปะการัง ก็เพราะว่าภายในถ้ำจะมีหินงอกหินย้อยแตกหน่อเล็ก ๆ คล้ายกับปะการังในทะเล ดูงดงามแปลกตา ราวกับอยู่ในท้องทะเล จากการสำรวจในเบื้องต้น หินย้อยรูปประหลาด ไม่ใช่ปะการังเหมือนในทะเล แต่อาจเกิดมาจากการตกตะกอนของน้ำหินปูน ที่เข้มข้นผสมกับความพิเศษของอากาศ จึงทำให้เกิดหินย้อยที่มีความเหมือนกับปะการัง ซึ่งจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ก็ได้ความว่าถ้ำแห่งนี้เคยอยู่ใต้ท้องทะลมาก่อน หินงอกหินย้อยต่าง ๆ ภายในถ้ำ จึงกลายเป็นเหมือนกับปะการัง และยังได้พบฟอสซิลสัตว์ทะเลเซลล์เดียวอายุประมาณ 250 – 400 ล้านปี ในหินปูน ซึ่งคาดว่าเคยเป็นทะเลดึกดำบรรพ์ของโลก สภาพภายในถ้ำสมบูรณ์และสะอาดมาก ๆ ไม่ค่อยมีกลิ่นมูลค้างคาวหรือกลิ่นอับเหมือนกับถ้ำทั่ว ๆ ไป
การเดินทางไปยัง ถ้ำปะการัง
ถ้ำปะการัง อยู่ในบริเวณทะเลใน 500 ไร่ ของเขื่อนรัชชประภา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสน ถ้ำปะการังเป็นถ้ำที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการมาเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ เพราะสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาอย่างหินงอกหินย้อยที่อยู่ภายในถ้ำมีสภาพสมบูรณ์มีความสวยงามประดุจปะการังที่อยู่ใต้ท้องทะเล ทำให้รู้สึกตื่นเต้นอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก และภายในถ้ำยังสะอาดสะอ้าน ไม่มีกลิ่นสาบของขี้ค้างคาว อากาศภายในถ้ำจะชื้น ๆ หน่อยตามปกติของถ้ำ แต่ปลอดโปร่งไม่มีกลิ่นอับ
ในการเดินทางไปถ้ำปะการัง นักท่องเที่ยวจะต้องเดินป่าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นระยะทาง 1.5 กิโลเมตร โดยเส้นทางในการเดินจะเป็นทางที่ช้างใช้ลากซุงสมัยก่อน มีความกว้างประมาณ 3 เมตรตลอดทาง ซึ่งเป็นทางเดินป่าที่ไม่ไกลนัก และไม่ลำบากผู้สูงอายุก็สามารถเดินได้อย่างสบาย ๆ แต่หลังจากที่ฝนตก ทางเดินก็จะแฉะ ๆ ลื่น ๆ ทำให้ค่อนข้างเดินยากสักหน่อย นักท่องเที่ยวจึงควรใส่รองเท้าที่เหมาะสำหรับการเดินป่า ซึ่งรองเท้าควรเลือกเป็นรองเท้าที่สวมใส่สบาย ไม่กัดเท้า พื้นควรเป็นยางนิ่มมีดอกหรือลวดลายที่เกาะพื้นดินหรือหินได้เป็นอย่างดี เพื่อลดโอกาสในการลื่นล้ม
ซึ่งการเดินทางไปยังถ้ำปะการัง จากแพที่พักต่าง ๆ จะต้องนั่งเรือเพื่อไปบริเวณจุดทางเข้า ตรงบริเวณนี้จะมีร้านขายของอยู่ แต่ราคาค่อนข้างจะสูงสักหน่อย หากยังไม่หิวแนะนำให้ซื้อของที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยถ้ำจันทร์ จะมีร้านค้าเปิดให้บริการ โดยเส้นทางจะเป็นทางลูกรัง มีขึ้นเนินลงเนินนิดหน่อย เดินง่ายสบาย ๆ ระหว่างทางก็อาจได้เห็นสัตว์ป่ากำลังเก็บผลไม้กินกันอยู่บนต้นไม้ อยู่กันเป็นครอบครัวน่ารักมาก ๆ เดินต่อมาเรื่อยๆ ประมาณเกือบ ๆ 2 กิโลเมตร จากบริเวณจุดทางเข้า จะพบกับบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยถ้ำจันทร์ มีเจ้าหน้าที่ของอุทยานดูแล และมีห้องน้ำให้เข้า จากบริเวณนี้จะนั่งแพไม้ต่ออีกรอบเพื่อไปยังถ้ำปะการัง ซึ่งจะไม่มีเรือหางยาว เพราะจุดนี้ไม่เชื่อมต่อกับผืนน้ำจุดอื่น หากจะเข้ามาต้องเดินข้ามเขามาเพียงอย่างเดียว ซึ่งน้ำที่เข้ามาสู่จุดนี้จะลอดถ้ำใต้เขาเข้ามาจึงเกิดทะเลสาบอีกหนึ่งผืนเรียกว่า ทะเลใน 500 ไร่ และจากบริเวณนี้นั่งแพไม้ ประมาณ 10 นาที ก็จะมาถึงอีกฝั่ง ปากถ้ำจะอยู่สูงขึ้นไปเล็กน้อย เดินประมาณ 50 เมตรก็จะถึงทางเข้าถ้ำ ซึ่งในการเช้าชมภายในถ้ำปะการัง จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานในการนำทาง , ห้ามนำสัมภาระต่าง ๆ เข้าไปด้วย และห้ามจับหินงอก หินย้อยภายในถ้ำอย่างเด็ดขาด และนอกจากความสวยงามของหินงอกหินย้อยแล้ว ภายในถ้ำปะการังก็ยังมีบริเวณที่น้ำหยดลงมารวมตัวกัน สีคล้ายสนิม และตรงที่หยดมีความคล้ายพระนางพญา เป็นที่น่าอัศจรรย์ จึงมีคนบริจาคเงินใส่ตู้ที่บริเวณแห่งนี้ และด้วยภายในถ้ำไม่มีไฟฟ้า ภายในค่อนข้างมืด นักท่องเที่ยวจึงควรติดไฟฉายไปด้วยสักคนละอัน และงดถ่ายรูปโดยใช้แฟลช เพราะแฟลชมีผลเสียต่อการงอกของถ้ำ
เตรียมตัวเดินป่าชมถ้ำปะการัง
แม้เส้นทางการเดินป่าเพื่อไปยังถ้ำปะการัง จะเป็นเส้นทางที่ไม่ไกล และค่อนข้างสบาย แต่ก็มีนักท่องเที่ยวที่รู้สึกเหนื่อย มีอาการปวดเมื่อยอย่างมาก เป็นตะคริว และบางรายลื่นล้มในระหว่างการเดินทาง ดังนั้นแล้วก่อนการเดินป่าจึงควรเตรียมร่างกายให้พร้อมซะก่อน ซึ่งในการเตรียมพร้อมร่างกาย นักท่องเที่ยวจะต้องออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังฟิตเนส การฝึกโยคะ การปั่นจักรยานหรือวิ่ง เพื่อให้หัวใจ กล้ามเนื้อ ร่างกายทุกส่วนได้คุ้นเคยก่อนที่จะใช้งานในการเดินป่า และต้องออกกำลังกายท่าง่าย ๆ เพิ่มเติม ที่ช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อน่องกับขาโดยตรง อย่าง ท่า Sit up (ท่ายืน-นั่งยอง) ทำเซทละ 50 ครั้ง/ไม่เกิน 2 นาที พัก 10 นาทีแล้วทำต่ออีกหนึ่งเซท ให้ทำวันละ 2-3 เซท (เช้า/เย็น) โดยให้เริ่มฝึกตั้งแต่ก่อนออกทริปอย่างน้อย 30-40 วัน เริ่มจาก 10-20-30-40-50 ครั้ง และควรทำให้ได้ครบ 50 ครั้ง/เซท ก่อนที่จะออกทริปอย่างน้อย 7 วัน โดยในการออกกำลังกายเพื่อเตรียมพร้อม ทุก ๆ ครั้งควรจะต้องทำการอบอุ่นร่างกายทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บขึ้นในระหว่างที่ออกกำลังกาย และในการเดินป่าต้องจำไว้เสมอว่า ให้ก้าวเท้าแบบสมาธิประสานกับการหายใจ ควรรักษาความเร็วในการเดินให้สม่ำเสมอ ไม่ต้องเร่งฝีเท้า ถ้ำปะการัง